องค์ประกอบและการเขียน Essay ฉบับผู้เริ่มต้น

9036
writing an essay

การเขียน Essay คืออะไร? ในความหมายภาษาไทยของ Essay นั้นมีตั้งแต่ ข้อเขียน, เรียงความ, ความเรียง จนไปถึงบทร้อยแก้ว แต่ถึงอย่างไรองค์ประกอบของการเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากกันนัก องค์ประกอบของการเขียนจะมีอะไรบ้าง และมีหลักการหรือแนวทางการเขียนอย่างไร ลองอ่านบทความนี้ดูค่ะ

ก่อนเราจะเข้าเรื่องครูณิชาอยากจะแนะนำก่อนว่า ทุกไอเดีย ทุกความคิด ทุกเรื่องราวที่จะนำมาเขียนหากไม่ใช่จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอมา ก็ต้องเป็นเรื่องราวที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนรู้มาทั้งสิ้น ดังนั้นครูณิชาจะเน้นย้ำอีกครั้งว่าการอ่านให้มากจะช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ และความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้

.

มาเริ่มทำความรู้จักกับประเภทของ Essay กันก่อนเลยนะคะ

Essay มี 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

Argumentative Essays

Essay ประเภทนี้จะเป็น Essay ที่ให้เราต้องเลือกอยู่ฝั่งใด ฝั่งหนึ่งเช่น “…had a positive or negative impact on…” หรือพวก “…advantage or disadvantage…” เป็นต้น ประเภทนี้เราอาจจะต้องทำการอ่านหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมบ้างเพื่อมาสนับสนุนแนวความคิดของเราให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น โดยการเป็นการเขียนโต้แย้งอีกในความคิดตรงข้ามแบบ evidence-based argument คือต้องมีหลักฐานข้อมูลในการอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็น research (การค้นคว้าวิจัย), statistics (ข้อมูลทางสถิติ) เป็นต้นค่ะ โดยองค์ประกอบของ Essay ก็ไม่ต่างจากประเภทอื่นมากนัก
– Introduction: จะเกริ่นนำเกี่ยวข้องกับหัวข้อ โดยแสดงถึงความสัมพันธ์ของหัวข้อและข้อมูลบางส่วนที่จะพูดถึงกล่าวโดย Topic statement
– Body: ส่วนของเนื้อหา เราจะต้องเริ่มนำหลักฐานขึ้นมาโดยเริ่มมีการใช้ Topic sentence และขยายด้วย Supporting ideas ส่วนของ body อาจจะมี 2 paragraphs ขึ้นไปก็ได้ โดยเราอาจจะกล่าวถึงประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยก่อน โดยนำ evidence บางอย่างขึ้นมาว่าก็มีคนคิดอย่างนี้ ด้วยเหตุผลและหลักฐานนี้ และในอีก Paragraph เราก็จะกล่าวถึงประเด็นที่เราเห็นด้วยโดยยก strong evidence คือหลักฐานที่หนักแน่นขึ้นมากล่าวถึง ยิ่งเราสามารถเขียนโน้มน้าวให้ผู้อ่านคิดตามเรา หรือเห็นด้วยกับเรามากเท่าใด นั่นคือความสำเร็จของการเขียนประเภทนี้ค่ะ
– Conclusion: ในส่วนสรุปนี้นำหลักฐานที่เราอ้างอิงไปแล้วมาสรุปรวม และนำประเด็นส่วนที่เราเห็นด้วยมาเน้นย้ำถึงความสำคัญอีกครั้งหนึ่งค่ะ

Expository Essays
Essay ประเภทนี้มีความยากรองลงมาจากประเภท Argumentative นิดหน่อย การเขียน Essay ประเภทนี้เราจะต้องสื่อสารข้อมูล ความคิดออกไปให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ การเขียนประเภทนี้จะเน้นการขยายความ ให้ความหมาย หรืออธิบายหัวข้อ (Topic) ให้ชัดเจนครบถ้วนที่สุด ให้ผู้อ่านเข้าใจที่สุด โดยการเขียนประเภทนี้จะยากที่การเรียงลำดับความคิดให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน เรียกได้ว่า well-organized view of the topic คือมีการลำดับความคิดในการสื่อสาร (convey the information) ให้ชัดเจนค่ะ หัวข้อของการเขียนประเภทนี้จะเป็นพวก “Explain …หรือ If you…, what/which would you… and why?” ค่ะเช่น “Explain why someone you know should be regarded as a leader.” เป็นต้น องค์ประกอบของการเขียนประเภทนี้คือ
– Introduction: กล่าวถึงข้อมูลทั่ว ๆ ไป (General background) ของสิ่งที่เราจะกล่าวถึง เช่น ถ้า Topic ต้อง Explain สิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ในศตวรรษนี้ เราอาจจะกล่าวถึงความหลากหลายมากมายของ invention ในศตวรรษหรือเจาะจงเลือกมาหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ โดยอธิบายถึงความเป็นมาคร่าว ๆ ของสิ่งนั้น ๆ ก่อน
– body: เป็นส่วนของการลงรายละเอียด โดยการตั้งคำถามในใจเพื่อนำไปสู่การเขียนให้ครอบคลุม รัดกุม และชัดเจนคือ What, When, Who, Why, How, ส่วน Where อาจจะสำคัญน้อยที่สุด เช่นถ้าพูดถึงสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติได้ ตั้งคำถามไว้ก่อนว่า สิ่งนั้นคืออะไร (ที่จะเขียน) แล้วถูกสร้างเมื่อใด โดยใคร ทำไมถึงสร้าง และสุดท้ายอาจจะจบที่จะช่วยได้อย่างไร ส่วนที่ใดอาจจะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการประดิษฐ์ การวิจัยที่ใด สถาบันใด เพื่อเพิ่มความชัดเจนน่าเชื่อถือในสิ่งที่กำลังจะอธิบายมากยิ่งขึ้น
– Conclusion: ให้สรุปข้อมูลใจความหลักที่กล่าวมาแล้วนั้นโดยอิงจาก Topic เป็นหลักเช่น ถ้าพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยมวลมนุษยชาติได้ อาจจะต้องเน้นไปทาง สิ่งนั้นคืออะไร โดยใคร และช่วยได้อย่างไร (What, Who, How) นั่นเองค่ะ

Narrative Essays
Essay ประเภทนี้น่าจะง่ายที่สุด ครูณิชามักจะแนะนำให้นักเรียนเริ่มฝึกเขียน Essay ประเภทนี้ก่อนเพื่อให้คุ้นชินกับการเขียน และเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าหาคำศัพท์เพิ่มเติม เขียนแล้วติด นึกศัพท์ไม่ออกเป็นต้น เป็นประเภทที่ทุกคนน่าจะเคยได้ลองเขียนมาแล้วบ้าง การเขียนประเภทนี้มักจะเป็นการเขียนจากประสบการณ์ที่เราได้ประสบพบเจอมาโดยตรง หรืออาจเป็นการเขียนจากจินตนาการจากประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังมาจากคนอื่นก็ได้ เป็นการเขียนที่ครูคิดว่าสนุกและเป็นการเริ่มต้นฝึกเขียนที่ดีค่ะ
Essay ประเภทนี้มักจะมีหัวข้อเป็นจำพวก “Your favourite…หรือ …you will never forget” เป็นต้นจะเป็นหัวข้อกว้าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเราเองมากที่สุด (ถ้าอยากลองหัดเขียนแล้วล่ะก็ ลองค้นหา Narrative essay topics ดูนะคะ) รูปแบบการเขียน Essay ประเภทนี้ไม่ค่อยมีข้อบังคับเท่าใดนัก เพราะเป็นการเขียนเล่าอะไรที่มัน personal (ส่วนตัว) มาก ๆ ดังนั้นการแบ่งส่วนเป็น introduction, body, conclusion ไม่ได้เข้มงวดมากนักค่ะ การเขียน Essay ประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับการลำดับการเล่าเรื่องเป็นลำดับ ไม่วกวนเท่านั้นก็พอค่ะ โดยมักจะขึ้นต้น Paragraph แรกด้วย Topic sentence ที่มีคำขยายที่เกี่ยวข้องกับ Topic แล้วจึงขยายด้วย Supporting sentence ตัวอย่างเช่น
Topic: A life lesson you have learned หัวข้อนี้พูดถึงบทเรียนชีวิตที่ได้เรียนรู้มา ประโยค Topic sentence อาจจะเป็น I have learned from some invaluable experience when I had a chance to travel alone. เป็นการกล่าวกว้าง ๆ โดยมีคำขยาย invaluable ใน Topic sentence แล้วค่อยขยายใน Supporting Sentence ว่า invaluable อย่างไรค่ะ สำหรับประโยคตัวอย่าง experience กับ life lesson จะเกี่ยวข้องกันค่ะ จะเห็นได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องอิงคำจาก topic โดยตรงก็ได้ แต่ต้องให้สื่อถึง topic ได้ค่ะ
สำหรับการเขียนสรุปใน Essay ประเภทนี้ก็คือสรุปอีกครั้งว่าเหตุการณ์นั้น ๆ สำคัญอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร ทำให้เราประทับใจอย่างไรนั่นเองค่ะ

Descriptive Essays
Essay ประเภทนี้เป็นการเขียนแบบพรรณนาโวหารเรียกได้ว่าต้องอธิบายให้เห็นภาพ ให้รู้สึกนึกคิดถึงภาพนั้น ๆ ได้ชัดเจน โดยการเขียนประเภทนี้จะมุ่งเน้นไปทางรายละเอียดของสภาพบรรยากาศ สิ่งของ สถานที่ มากกว่าเล่าเรื่องโดยภาพรวมทั้งหมดค่ะ เรียกได้ว่าพรรณนาโวหารนั่นแหละ
การเขียน Essay ประเภทนี้เป็นการเขียนที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ และการเลือกเฟ้นคำศัพท์มาใช้ให้เหมาะสมน่าสนใจ โดยคำเหล่านั้นจะต้องอธิบายให้เห็นภาพตามโจทย์ที่กำหนด โดยหัวข้อของการเขียน Essay ประเภทนี้จะเป็นพวก “Describe …” การเขียนประเภทนี้จะอธิบายภาพรวมของสิ่งที่เราจะพรรณนาถึง แล้วเจาะจงเลือกเฟ้นคำมาอธิบายรายละเอียดของสิ่งนั้น ๆ ต่อ ในการเขียนประเภทนี้ไม่มีการกำหนด Introduction, Body, Conclusion แต่จะเน้นไปทางด้านการเขียนอธิบายสิ่งใด หรือเหตุการณ์ใดอย่างละเอียด ชัดเจน และให้นึกภาพตามได้ โดยความสำคัญหลัก ๆ จะไปมุ่งเน้นเรื่องการใช้คำศัพท์ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ นั่นเองค่ะ

การเริ่มต้นเขียน Essay
1) ทำความเข้าใจประเภทของ Essay แต่ละประเภทก่อน
2) ทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับหัวข้อที่ต้องเขียน
3) หากเป็นการเขียนแนว Argumentative/Expository ควรค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้อ้างอิง
4) วาง outline การเขียนเพื่อไม่ให้หลุดหรือหลงประเด็น

การเขียน Introduction
การขึ้นต้น introduction ที่น่าสนใจไม่ควรยาวมากนัก และใช้ถ้อยคำที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน โดยความยาวของ introduction ไม่ควรจะยาวเกิน 10 – 20% ของ essay นั้น ๆ การเขียน introduction ที่ได้รับความนิยมมักจะเริ่มต้นด้วยคำถามชวนให้คิด ข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจ หรือถ้อยคำ (quote) จากผู้ใดผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้อง โดยการเขียน introduction เราจะอธิบายภาพรวมหรือ background ของเรื่องนั้น ๆ ก่อน

การเขียน Body
Body หรือส่วนของเนื้อหาหลักจะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน ในแต่ละ Paragraph ประกอบด้วย Topic Sentence และ supporting sentence โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเหมาะสมตามลำดับด้วย Transition words
การเขียน supporting sentence อาจจะเป็นการยกตัวอย่างคำพูด (quote) หลักฐาน ข้อมูล หรือตัวอย่างต่าง ๆ โดยต้องมีการอธิบายขยายความข้อมูลที่ยกมาเหล่านั้นให้ชัดเจนด้วยค่ะ

การเขียน Conclusion
Conclusion คือสรุป เป็นส่วนสุดท้ายของการเขียน โดยการเขียนสรุปที่ดีจะต้องมีการเชื่อมโยงถึงส่วน body ของ essay ได้ดี และอธิบายภาพรวมทั้งหมด โดยอาจเจาะจงเนื้อหาใจความสำคัญ มาเน้นย้ำอีกครั้ง ข้อควรระวังคือ การเขียนสรุปควรจะเป็นส่วนสุดท้าย ไม่ควรนำข้อมูล หลักฐานใหม่ ๆ มากล่าวถึงเด็ดขาด การเขียนจะไม่สมบูรณ์ทันทีค่ะ เนื้อหาของสรุปจะมีอยู่ราว ๆ 10 – 15% ค่ะ Conclusion ที่ดีจะทำให้ผู้อ่านจดจำเนื้อหาหลัก ๆ ของ Essay นั้น ๆ ได้ดี และอาจจะมีความรู้สึกร่วมไปกับผู้เขียนด้วยค่ะ

ทักษะการเขียนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเช่นกัน อาจจะเริ่มจากการเขียนแบบง่าย ๆ ก่อน และการมีคลังคำศัพท์ที่มากพอสมควรจะช่วยให้การเขียนเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลานึกหาคำศัพท์ และจะหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ซ้ำ ๆ ได้เช่นกัน ครูณิชาแนะนำให้อ่านและฝึกเขียนกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดระยะเวลาในการฝึกฝนค่ะ ยิ่งทิ้งไว้นาน ยิ่งเว้นไว้นาน จะเท่ากับเริ่มต้นใหม่ค่ะ เพราะการเรียนภาษาคือการใช้จริง และต้องทำให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราให้ได้นั่นเอง

วันนี้ครูณิชาลาไปก่อนค่ะ พบกันใหม่บทความหน้า 😊

Share
.