การพูดภาษาอังกฤษด้วยความมั่นใจ

1938

ประหม่า กังวล เขินอายทุกครั้งที่ต้องพูดภาษาอังกฤษ? วันนี้ครูณิชาเรียบเรียงวิธีการเสริมสร้างความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมาให้อ่าน ให้ลองปฏิบัติกันดูค่ะ

ถ้าคุณรู้สึกประหม่า กังวล เขินอาย ในการพูดภาษาอังกฤษกับคนอื่น ลองใช้วิธีการเหล่านี้ในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคุณเองดูค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่าการใช้ภาษาผิด ๆ ถูก ๆ นั้น ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร

.
  • อันดับแรก อย่ากังวลค่ะ เจ้าของภาษาก็ใช้ภาษาไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด นึกถึงเราใช้ภาษาไทยสิคะ ก็ไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ใช่มั้ยคะ ไม่ต้องกลัวว่าผิดพลาดแล้วใครจะมาหัวเราะเยาะเราเลยค่ะ ทุกคนทำผิดด้วยกันทั้งนั้น
  • อ่านหนังสือเยอะ ๆ อาจจะเริ่มด้วย graded readers (หนังสือวรรณกรรมที่นำมาเรียบเรียงใหม่โดยแบ่งตามระดับความยากง่ายของภาษาและจำนวนคำที่ใช้ในหนังสือ) ระดับเริ่มต้นก่อนซึ่งมันจะไม่ยากจนเกินไปนักสำหรับคุณเอง
  • ถ้าคุณไม่มั่นใจเท่าไหร่กับการอ่านของคุณว่าจะออกเสียงคำต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกต้องลองค้นหา dictionary online ค่ายต่าง ๆ ดูค่ะ อย่างครูณิชาใช้ Oxford, Cambridge, Longman เป็นต้นซึ่งจะมีการออกเสียงทั้งแบบอเมริกันและแบบบริติชให้ฟังด้วยค่ะ เราอาจจะบันทึกเสียงอ่านของเราไว้ฟังทบทวนภายหลังด้วยก็ได้เพื่อจะได้รู้ว่าการออกเสียงแต่ละคำของเราเป็นอย่างไร
  • ฟังเสียงที่เราบันทึกนั้นแล้วก็ฝึกใหม่ซ้ำ ๆ ฟังดูว่ามีพยางค์ใดออกเสียงไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้องไม่มั่นใจก็ค้นหาเสียงอ่านจาก dictionary online ข้างต้นแล้วฝึกซ้ำ ๆ อัดเสียงแล้วฟังซ้ำ ๆ เราจะมีความมั่นใจมากขึ้นได้เมื่อเราได้ยินเสียงที่ของเราเองและพบว่าไม่ได้แย่นะ
  • หลังจากอ่านมาหลาย ๆ รอบ แล้ว รอบนี้เป็นรอบเอาจริงแล้วค่ะ อ่านไปรวดเดียวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงอ่านอีก เพราะเราฝึกซ้ำ ๆ มาหลายรอบแล้ว บันทึกเสียงไปด้วย แล้วลองฟังดูว่ารอบนี้เป็นอย่างไรบ้าง บอกเลยว่าคุณจะเห็นพัฒนาการของตัวคุณเองจนเกิดความมั่นใจ และได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นแน่นอนค่ะ ไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียวนะคะ จะอ่านแล้วบันทึกเสียงหลาย ๆ รอบจนกว่าจะเป็นที่น่าพอใจของเราเองก็ได้ค่ะ
  • ฝึกซ้อมหน้ากระจก ถ้าคุณเป็นคนขี้อายล่ะก็การฝึกฝนหน้ากระจกบ่อย ๆ จะทำให้เรามีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราสามารถฝึกซ้ำ ๆ ได้ตามที่เราต้องการ ฝึกจนรู้สึกว่าการทำแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนี่นา การพูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สมัยที่ครูณิชาฝึกงานอยู่ในสำนักสอนมายากลชื่อดังแห่งหนึ่ง เขาก็จะให้นักเรียนของเขาฝึกกับกระจกเหมือนกันค่ะ เพื่อให้ทราบว่ามุมมองใดที่ผู้ชมจะเห็น และเพื่อให้รู้ข้อผิดพลาดของตนเองและแก้ไขมันก่อนวันแสดงจริง ซึ่งวิธีนี้เราก็ใช้กับการฝึกพูดได้ในหลาย ๆ สถานการณ์เช่นกัน

เจ้าของภาษาคือเพื่อนที่ดีที่สุด (ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ)

การมีเพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษา (หรือหมายถึงเพื่อนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก) จะช่วยพัฒนาทักษะการพูดของคุณได้ ลองหาเพื่อนชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษดูค่ะ และนี่จะเป็นวิธีที่จะบังคับให้คุณพยายามพูดภาษาอังกฤษด้วย เพราะคุณคงไม่พยายามพูดภาษาไทยกับพวกเขาหรอกนะ

การหาเพื่อนชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ (หรือหาเพื่อนพูดภาษาอังกฤษ) ถ้าคิดไม่ออกลองทำดังนี้ค่ะ

  • หากลุ่มสนทนาออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เว็บบอร์ด (forums) หรือกลุ่มต่าง ๆ ที่เราสนใจเฉพาะทางเช่นกลุ่มเย็บปักถักร้อย กลุ่มงานประดิษฐ์ เพื่อหาเพื่อนที่สนใจในอย่างเดียวกัน การพาตัวเองไปอยู่ในสังคมชุมชน (ออนไลน์) ที่ใช้ภาษาอังกฤษจะช่วยบังคับให้เราใช้ภาษอังกฤษมากขึ้นด้วยค่ะ
  • หาสถานที่ใกล้ ๆ เราที่มีกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยชาวต่างชาติเจ้าของภาษา คุณสามารถใช้ facebook หากิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียง ดูว่ามีกิจกรรมอะไรน่าสนใจ และจะจัดขึ้นเมื่อใด คุณจะมีโอกาสเจอเพื่อนชาวต่างชาติมากมาย แน่นอนล่ะวิธีนี้จะทำให้คุณมีเพื่อนที่จะช่วยฝึกภาษาอังกฤษให้กับคุณอย่างมากมาย
  • เข้าเรียนคอร์สกลุ่มเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ จะช่วยให้คุณฝึกพูดภาษาอังกฤษกับคนที่อยู่ในระดับเดียวกันได้ (แต่ถ้าใครเขิน ๆ ขี้อายหน่อย ๆ อาจจะไม่แนะนำวิธีนี้เท่าไหร่นะคะ)
  • วิธีสุดท้ายน่าจะแพงที่สุดแล้วล่ะครูณิชาว่า ก็คือเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่เขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เป็นภาษาราชการซะเลย รับรองต้องใช้ ต้องพูดแน่นอน อย่างน้อยก็ถามทางแน่ ๆ แล้วล่ะ หรืออาจจะเจอหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่น่าสนใจให้เราทำความรู้จักแลก facebook/Whatsapp กันด้วย

ถ้าทำคำแนะนำทั้งหมดแล้วยังไม่มีความมั่นใจขึ้นเลยล่ะ (ฮือออออ)

หากคุณไม่สามารถที่จะเอาชนะความกลัวผิดพลาดอันนำมาให้เกิดความไม่มั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษของตัวคุณเองได้ คุณอาจจะมีความวิตกกังวลค่อนข้างมาก แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะปัญหาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาต้องมาคู่กับการแก้ปัญหาค่ะ ครูณิชาจะแนะนำดังต่อไปนี้

ให้เวลาตนเองได้พัก

คุณอาจจะไม่ต้องฝึกภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น (intensive) ตลอดทั้งวัน ตลอดทั้งเดือนก็ได้ค่ะ พักบ้าง อาจจะมีสักวันหรือสองสามวันที่เราจะเว้นว่างจากการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อผ่อนคลายบรรเทาอาการตึงเครียดของเราเอง (เอาจริง ๆ นะ ครูณิชาฝึกไประยะนึงพอจะพักจากภาษาอังกฤษจะกลายเป็นเรื่องยากกว่าช่วงเวลาฝึกฝนอีก เพราะถึงตอนนั้นรอบข้างเราจะเต็มไปด้วยภาษาอังกฤษหมดแล้วล่ะ

ผ่อนคลาย

ถ้ารู้สึกกังวลใจในการพูดภาษาอังกฤษ ผ่อนคลายยยยย เบาสบายยยย ผ่อนคลายยยย (ท่องไว้ในใจ) การวิตกกังวลมากเกินไปจะไม่เป็นผลดี แถมยังจะทำให้การเรียนรู้ การฝึกฝนภาษาอังกฤษของคุณเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้นด้วย

คิดบวก

เปลี่ยนทัศนคติเลยค่ะ จริง ๆ ครูณิชาน่าจะนำสิ่งนี้มาเป็นอันดับต้น ๆ เลยด้วยซ้ำ การปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้เรามั่นใจยิ่งขึ้น เช่น ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องน่าอาย, ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องของคนกระแดะหรือดัดจริตซะหน่อย แบบนี้ เราจะได้ไม่ต้องเขินอายในเวลาเริ่มฝึกพูดจริง ๆ จัง ๆ

ให้กำลังใจตนเอง

คุณอาจจะรู้สึกแย่ ๆ ในหลาย ๆ ครั้ง อาจจะมีการท้อแท้เกิดขึ้นบ้าง แต่ต้องเตือนใจตนเองเสมอว่าเราจะฝึกฝนทักษะการพูดภาษาอังกฤษเพื่ออะไร แล้วเราจะได้รับประโยชน์อะไร ตัวเราคนใหม่ที่กำลังยืนพูดกับชาวต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่วนั้นจะเป็นอย่างไร จะได้รับโอกาสดี ๆ อะไรบ้าง เมื่อคุณคิดถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว การฝึกภาษาอังกฤษจะเป็นเรื่องคุ้มที่จะพยายาม และคิดถึงสิ่งเหล่านี้บ่อย ๆ ถ้าคุณรู้สีกท้อแท้หมดกำลังใจ

เชื่อมั่นในตนเอง

ไม่ว่าจะคำแนะนำใดที่ครูณิชาพิมพ์ออกมาให้อ่าน จะกี่บทความก็ตามถ้าคุณขาดความเชื่อมั่นในตนเองแล้วล่ะก็ ทุกสิ่งที่ครูณิชาทำลงไปก็จะไม่มีผลอะไรเลย สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือ คุณต้องเชื่อมั่นในตนเองว่าคุณทำได้…

Share
.