Breakthrough การใช้ Tenses!

1912

Tense นั้นสำคัญไฉน? เราเล่าเรียนกันมาตั้งแต่ประถมฯ – มัธยมฯ ก็ยังเจอเรื่อง Tense แล้ว Tense นี้สำคัญกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน? สารพันคำถามเกี่ยวกับเรื่อง tense ที่ครูณิชาได้รับมาตลอดการสอน วันนี้ครูณิชาได้เรียบเรียงคำตอบทั้งหมดนั้นไว้ในนี้แล้วววว

เรื่องของ tense (กาลในไวยากรณ์) ของภาษาอังกฤษอาจทำให้ใครหลาย ๆ คนสงสัยสับสนกันอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากภาษาไทยเราเนี่ยไม่มีเรื่องนี้ให้สับสนวุ่นวาย เรามีเพียงคำวิเศษณ์ที่ใส่ไปแล้วนั้นทำให้กริยานั้นเป็นอดีตหรือเป็นอนาคตไปเลย แต่ในภาษาอังกฤษโครงสร้าง tense ค่อนข้างสำคัญมากเลยทีเดียว ถ้าพร้อมแล้ว เตรียมสติ สมาธิ สมุด ปากกาให้พร้อมแล้วไปอ่านกันเลย

.

Tense ภาคพิสดาร (อาน อาน อาน—เสียงเอคโค่มา) โดยครูณิชา
อันว่าเรื่องของ Tense เนี่ยเราจำแนกเป็นเนื้อหาสาระสำคัญอยู่สองส่วน คือ!!!
1) การใช้ (อดีต อนาคต ปัจจุบัน)
2) โครงสร้าง (คำถาม ปฏิเสธ บอกเล่า — ครูณิชารวมเรื่อง Passive voice ในกลุ่มนี้ด้วย)

ในแต่ละกาล (Past, Present, Future) มี 2 คู่ tense ใหญ่ๆ คือ
– Simple
– Continuous
และ
– Perfect (simple)
– Perfect Continuous

ถ้าเราลองจัดกลุ่มแบบนี้จะพบว่าจะมีคู่ Simple กับ Continuous อยู่สองคู่ คือคู่ปกติคู่แรก กับคู่ Perfect (ต้องมี v. to have) ทีนี้โครงสร้าง simple ทั้งหลายจะเป็นโครงสร้างกริยาตามหลังประธาน (ยกเว้น future ต้องมี will ก่อน) การจำโครงสร้าง tense นี้ค่อนข้างง่ายคือ

– Simple = กริยาตามหลังประธาน ปัจจุบันกริยาผันตามประธานเอกพจน์/พหูพจน์ อดีตใช้กริยาช่องสองไม่ต้องสนใจพจน์ของประธาน (กริยาผันตามกาล *ยกเว้น future ใส่ will ก่อนกริยา/กริยาช่วยทุก tense* กริยาหลัง will ต้องเป็นกริยารูปปกติไม่ผัน ไม่เติม s/es ไม่เปลี่ยนรูป)

– Continuous = โครงสร้าง verb to be + Ving จำไว้เสมอว่า continuous มีโครงสร้าง verb to be + Ving ถ้าเป็น present cont. ก็ผัน verb to be ตามประธาน is, am, are (*โครงสร้าง present กริยาตัวชิดประธานที่สุดผันตามประธานเอกพจน์พหูพจน์*) ส่วน past cont. กริยา verb to be เหลือแค่ was, were (ย้ำอีกครั้ง verb to be + Ving)

– Perfect = คือโครงสร้าง verb to have + V3 ไม่ว่าจะเป็น perfect ชนิดไหน verb to have + V3 ต้องมาค่ะ ลองย้อนไปดู * ในวงเล็บบนค่ะ ถ้าโครงสร้าง present กริยาตัวชิดประธานที่สุดผันตามประธาน นั่นแปลว่า verb to have + V3 ตัว verb to have ตัวผันเป็น have/has ตามพจน์ของประธานค่ะ และตัว v. to have เนี่ยถ้าเป็น past perfect ก็ต้องเปลี่ยนเป็น had แค่นั้น ส่วนกริยา V3 ต้องมีค่ะ เพราะโครงสร้าง perfect ต้อง v. to have + V3 เสมอ

– Perfect Continuous = อันนี้คือการรวมกันระหว่าง Perfect ธรรมดา กับ Continuous ค่ะ แปลว่าต้องมี ทั้ง v. to have + V3 และ v. to be + Ving  มีการรวมโครงสร้างตามตารางนี้ค่ะ

V. to have V3  
  V. to be Ving
V. to have been Ving

จะเห็นได้ว่าตำแหน่ง V3 เนี่ยต้องเอา v. to be ของ Continuous ไปใส่ ดังนั้น V. to be เลยเปลี่ยนเป็นกริยาช่อง 3 (กริยาช่องสามของ be = been ค่ะ)

ส่วนโครงสร้างของ Future ทั้งหมด ใช้ will/shall หลังประธาน หน้ากริยาหลัก (กริยาหลักที่ครูณิชากล่าวถึงนี่รวมชุดกริยาตามโครงสร้างนั้น ๆ เลยนะคะ เช่น [is, am, are + Ving], V1, V2, [have/has + V3] เป็นต้น) และถ้ามี will/shall นำหน้ากริยาเหล่านั้นแล้ว กริยาเหล่านั้นจะต้องเป็นรูปปกติ ตัวอย่างเช่น is, am, are + Ving พอเป็น Future Cont. ต้องมี will/shall นำหน้า จะใช้ will + is, am, are + Ving ไม่ได้ เพราะรูปเดิมของ is, am, are คือ be ดังนั้นโครงสร้างนี้จะเป็น will + be + Ving นั่นเอง กรณีนี้ก็ทำเช่นเดียวกับโครงสร้างที่มีกริยาช่วยอื่น ๆ ค่ะ

ประโยคปฏิเสธและประโยคคำถาม โครงสร้างที่มีกริยาช่วยอยู่แล้วให้ปฏิเสธที่คำนั้น หรือย้ายกริยาช่วยนำหน้าประธานจะได้โครงสร้างประโยคคำถามค่ะ โครงสร้างที่มีกริยาช่วยได้แก่ กลุ่ม Perfect tense และ Continuous tense รวมทั้งง Future ทั้งสี่ Tense ด้วย จำง่าย ๆ คือมีกริยาช่วยปฏิเสธที่กริยาช่วย และย้ายกริยาช่วยนำหน้าประธานเป็นประโยคคำถาม ตัวอย่าง

He has finished his homework.
He hasn’t finished his homework.
Has he finished his homework?

She had gone before you came.
She hadn’t gone before you came.
Had she gone before you came?

They are playing football.
They aren’t playing football.
Are they playing football?

You will be playing the piano at this time tomorrow.
You won’t be playing the piano at this time tomorrow.
Will you be playing the piano at this time tomorrow?
เป็นต้น

ส่วนโครงสร้าง Past simple และ Present simple เป็นโครงสร้างที่มีเพียงกริยา ถ้าจะปฏิเสธหรือตั้งคำถามต้องใส่กริยาช่วย Do/Does/Did ไปก่อน (Present ใส่ ประธานเอกพจน์ใช้ does ยกเว้น you กับ I, ส่วนพหูพจน์ใช้ do ทั้งหมด อดีตใช้ did ไม่ต้องสนใจประธาน) และต้องจำเพี่มอย่างหนึ่งว่า ประโยคใด ๆ ที่เราใส่ do/does/did เข้าไปแล้ว กริยาต้องกลับเป็นรูปปกติเสมอ เช่น

He bought a flower yesterday.
He didn’t buy a flower yesterday.
Did he buy a flower yesterday?

She walks to school every day.
She doesn’t walk to school every day.
Does she walk to school every day?
เป็นต้น

สำหรับบทคววามนี้ครูอยากให้อ่านแล้วสรุปย่อ ไว้เป็นภาษาของตนเองด้วยนะคะ ไม่ได้เขียนโครงสร้างแบบเดิม ๆ ไว้ให้อ่านแล้ว ถ้าหากใครไม่เข้าใจโครงสร้าง ต้องกลับไปทบทวนโครงสร้างอีกครั้งนึงค่ะ สำหรับบทความนี้ถ้ามีอะไรเพิ่มเติม ครูจะมาแก้ไขเพิ่มเติมอีกจ้า เรียกได้ว่าถ้ายังไม้ breakthrough ก็ทำให้ breakthrough กันเลยยยย สำหรับวันนี้ครูณิชาขอตัวลาไปก่อนค่า

Share
.