สไตล์การเรียนรู้ควบคู่การจำ

1041

ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายวิธีการจำคำศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ ให้น้อง ๆ หรือผู้ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษได้นำเคล็ดที่ไม่ลับนี้ ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่า เราจะพยายามอธิบายให้ทราบอย่างละเอียด แต่กระชับและเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพื่อที่น้องๆจะได้ไม่เสียเวลาอ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

กลไกการเรียนรู้ของสมอง
บรรดานักจิตวิทยาที่ศึกษารูปแบบการเรียนรู้ของสมอง ต่างก็ได้ค้นพบกันมานานแล้วว่า คนเราสามารถรับข้อมูลโดยผ่านเส้นทางการรับรู้ 3 ทาง คือ การรับรู้ทางสายตาโดยการมองเห็น การรับรู้ทางหูจากการได้ยิน และสุดท้าย คือ การรับรู้ทางร่างกายผ่านการเคลื่อนไหวและความรู้สึก

.

ส่วนน้องๆคนไหนจะถนัดการเรียนรู้แบบไหน ก็ลองสังเกตตัวเองดูนะครับ เช่นว่า เวลาฟังครูอธิบายในห้องเรียน เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ระหว่างการฟังครูพูดเฉยๆ กับการมองภาพสไลด์เพื่อทำความเข้าใจ หรือการทำกิจกรรมทางกายภาพประกอบการเรียน การเรียนรู้แบบไหนทำให้น้องๆ ‘เก็ท’ ง่ายกว่ากัน

3 สไตล์การเรียนรู้เพื่อจำคำศัพท์

ข้อเท็จจริงข้างต้น ถือเป็นข้อมูลที่ทำให้ครูสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นลักษณะของการเรียนรู้คำศัพท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับสไตล์ของน้องๆ หรือตามที่ตนเองรู้สึกว่า ถนัดที่สุด

1) ผู้ที่ถนัดเรียนรู้ผ่านการมอง (Visual Learners)
“เคยไหมครับ…..เวลาใครอธิบายอะไรก็ไม่ค่อยเข้าใจ คิดแล้วคิดอีก…..แต่พอมีคนมาวาดภาพประกอบให้ดูเท่านั้นแหละ ร้องอ๋อทันที”     

หากน้องเป็นคนประเภทนี้ ก็ถือเป็น 1 ในประชากร 60-65 % เลยทีเดียว ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่มักจะ ‘เรียนรู้’ ได้ดีจากรูปภาพ แผนภูมิ แผนผัง หรือผ่านเนื้อหาที่เขียนเป็นเรื่องราว เช่น เวลาจะนึกถึงเหตุการณ์ใด ก็จะนึกเป็นรูปภาพ เหมือนกับเวลาที่ดูภาพยนตร์ คือ ลำดับเหตุการณ์เป็นภาพที่สามารถเคลื่อนไหวบนจอฉายหนังได้ น้องจะเรียนได้ดีถ้าอาจารย์บรรยายเป็นเรื่องราว และทำข้อสอบได้ดีถ้าอาจารย์ออกข้อสอบในลักษณะที่ผูกเป็นเรื่องราว

เคล็ดลับจำศัพท์ – เนื่องจากระบบเก็บความจำของน้อง ได้จัดเก็บสิ่งที่เรียนรู้ไว้เป็นภาพ น้องอาจสังเกตว่าตัวเองมักคิดในใจว่า “ฉันเห็น…..” หรือ “ฉันจำได้ลางๆว่า…..

ดังนั้น หลังจากท่องศัพท์คำใดแล้ว ให้กูเกิ้ลหาคำแปลของคำศัพท์นั้น ที่มีประโยคตัวอย่างให้ดู ก็จะช่วยให้น้องๆ สามารถนำประโยคที่อ่าน มาผูกโยงเป็นเรื่องราวและนึกภาพตาม โดยควรที่จะนึกถึงเนื้อเรื่องที่ทันสมัย โดนใจ หรือตรงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยให้สมองจดจำทั้งคำศัพท์และคำแปลเป็นภาพได้ง่ายขึ้น

2) ผู้ที่ถนัดเรียนรู้ผ่านการฟัง (Auditory Learners)
“เคยไหมครับ…..เวลาดูหนังซาวแทรคน์ มักจะอ่านคำแปลไม่ค่อยทัน แต่หากดูหนังพากษ์ไทยล่ะก็ นอกจากจะอินไปกับมันแล้ว ยังจำเนื้อเรื่องทั้งหมดได้เป๊ะๆเลย”

หากน้องเป็นคนประเภทนี้ มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่า น้องคือ ประชากร 1 ใน 20-25 % ของชาวไทย ซึ่งก็นับว่าเยอะอยู่ และแสดงว่าเป็นคนประเภทที่จะเรียนรู้ได้ดีจากการฟัง รวมถึงเมื่อได้พูดโต้ตอบในเรื่องนั้นๆด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง น้องมักจะเพลิดเพลินและชอบฟังเรื่องราวต่างๆ และในทางกลับกัน ก็ชอบเล่า/อธิบายให้คนอื่นฟังต่อด้วย

เคล็ดลับจำศัพท์ – คุณลักษณะพิเศษของน้อง ได้แก่ การมีทักษะในการได้ยิน/ได้ฟังที่เหนือกว่าคนอื่น ดังนั้น น้องจะจดจำคำศัพท์ผ่านการฟังได้อย่างคล่องแคล่ว และเมื่อจะคิดอะไรสักอย่าง น้องก็มักจะคิดเป็นคำพูด หรือชอบพูดในทำนองว่า “ฉันได้ยินมาว่า……..” หรือ “ฉันเคยได้ฟังมา คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่า……” ดังนั้น ขอแนะนำให้น้องพูดอัดเสียงกลุ่มคำศัพท์ที่ต้องการจะจำ พร้อมคำแปลและประโยคตัวอย่าง เอาไว้เปิดให้ตัวเองฟังได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอัดผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่น MP3 ก็ย่อมทำได้โดยสะดวก

อ้อ…! ถ้ามีแฟนมีกิ๊ก ก่อนนอน ให้พยายามประคองสมาธิเคลิ้มๆไปก่อน แล้วขอให้เขาหรือเธออ่านคำศัพท์ คำแปล และประประโยคตัวอย่างให้ฟัง ปล่อยให้สมองซึมซับผ่าจิตใต้สำนึก ลึกลงไปฝังแน่นในระบบความจำ จนกระทั่งผลอยหลับไปเอง

3) ผู้ที่ถนัดเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหว (Kinesthetic Learners)
“เคยไหมครับ…..พูดไม่ค่อยเก่ง แต่รักหมดใจ ฟังอะไรก็ไม่ค่อยเห็นภาพตาม ดูภาพประกอบก็งั้นๆ ยังมึนเหมือนเดิม แต่พอลองทำกิจกรรมประกอบด้วย กลับเข้าใจได้หมดเลย”  

            หากน้องเป็นคนประเภทนี้ มีโอกาสเป็นไปได้มากว่า น้องคือ ประชากร 1 ใน 10-15 % ของชาวไทยทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าน้อย แต่ไม่ต้องห่วงครับ เรามีศักยภาพเท่าๆกับคนอื่นเค้านั่นล่ะ อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ย่อมหมายความว่า น้องเป็นคนที่ถนัดเรียนรู้ผ่านทางความรู้สึกหรือการสัมผัส

ทั้งนี้ หากลองสังเกตตัวเองดู น้องอาจจะพบว่า เวลานั่งในห้องเรียน น้องมักจะนั่งแบบอยู่ไม่สุข  ไม่สนใจบทเรียน และไม่สามารถทำใจให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนเป็นเวลานานๆได้ แต่ชอบทำกิจกรรมทางกายภาพมากกว่า

เคล็ดลับจำศัพท์ – คนที่ชอบเรียนรู้ด้วยวิธีดังกล่าว มักมีปัญหาในการจำคำศัพท์ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการจัดเรียงคำศัพท์ให้เป็นหมวดหมู่ ดังนั้น ถ้าต้องท่องศัพท์นานๆเป็นชั่วโมง ก็จะเบื่อและผลักไสข้อมูลดังกล่าวออกจากสมองไปเสียหมด สิ่งที่ครูอยากแนะนำน้องๆสไตล์นี้ คือ การท่องศัพท์แบบง่ายๆ ให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงท่องทีละน้อยๆ และท่องในขณะทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ฝึกใช้คำศัพท์ที่ท่องในแบบที่ต้องแสดงออกผ่านท่าทางประกอบ  เช่น การพูดคุยกับเพื่อนๆชาวต่างชาติหรือครูสอนภาษาอังกฤษ ก็จะช่วยให้สมองซึมซับคำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

Share
.