การเรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ (ทีละขั้นตอน)

1464

ต้องการเขียนหรือพูดภาษาอังกฤษด้วยแกรมมาร์ที่ดีขึ้นหรือไม่?

ต้องการได้คะแนนดีๆ ในการสอบแกรมมาร์ภาษาอังกฤษหรือไม่?

.

ถ้าใช่ บทความนี้ก็มีไว้สำหรับคุณ

มีอยู่สามวิธีในการปรับปรุงแกรมมาร์ภาษาอังกฤษของคุณ:

  1. การศึกษาแกรมมาร์
  2. การฟังและการอ่าน
  3. การเลียนแบบเจ้าของภาษา


บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดของแต่ละวิธี

บทความนี้ยาวมาก ดังนั้น หากคุณต้องการสรุปหลักการ ให้ คลิ้กที่นี่ เพื่อข้ามไปยังแผนปฏิบัติการทีละขั้นตอนในการปรับปรุงการใช้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ
.
.
.

มาเริ่มกันเลย

วิธีที่ 1: การศึกษาแกรมมาร์


วิธีที่คนส่วนใหญ่ศึกษาเรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ คือ:

  • พวกเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับแกรมมาร์
  • พวกเขาจดจำกฎแกรมมาร์
  • พวกเขาฟังครูอธิบายแกรมมาร์

โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาเรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ ด้วยการศึกษา ซึ่งคล้ายกับวิธีที่เราเรียนวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์
.
.
.

ข้อดีของการศึกษา

มาดูข้อดีของการศึกษาเรียนรู้แกรมมาร์กัน
.
.

ข้อ 1: เหมาะสำหรับการทำข้อสอบแบบปรนัย

ในข้อสอบปรนัยคุณต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้อง จากรายการตัวเลือกที่มีให้


หากคุณกำลังเตรียมตัวสำหรับการทดสอบเช่นนี้และ รู้ว่าในข้อสอบจะถามอะไรบ้าง การศึกษาเรื่องแกรมมาร์จะช่วยให้คุณได้คะแนนดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากคุณรู้ว่าการทดสอบจะเกี่ยวกับคำบุพบท คำคุณศัพท์ และประโยคอดีตกาล คุณก็สามารถเตรียมตัวได้โดยศึกษาหัวข้อเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า

หมายเหตุ: การเรียนแกรมมาร์เหมาะสำหรับการทำข้อสอบปรนัยทั่วไป แต่ไม่เหมาะสำหรับการทดสอบขั้นสูง เช่น:

  • การสอบพูดหรือเขียน ซึ่งคุณจะต้องพูดหรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษ
  • ข้อสอบแบบอ่านตีความ ซึ่งกำหนดให้คุณต้องอ่านและทำความเข้าใจข้อความที่ยาก ภายในระยะเวลาที่จำกัด

.
.
.

ข้อ 2: การศึกษาเรื่องแกรมมาร์ช่วยพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของคุณ


การเขียนภาษาอังกฤษมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดมากกว่าการพูดภาษาอังกฤษ ในแง่ของแกรมมาร์และกฎระเบียบ

ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อเขียนเรซูเม่ หากเกิดข้อผิดพลาดทางแกรมมาร์ อาจทำให้ผู้อ่านตีความไปในทางลบ

การศึกษาแกรมมาร์ ช่วยให้คุณเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่จะปรับปรุงการเขียนของคุณ เช่น:

.
.
.

ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาแกรมมาร์

น่าเสียดายที่การศึกษาแกรมมาร์มีข้อเสียใหญ่ประการหนึ่ง

มันไม่ได้ช่วยให้คุณพูดภาษาอังกฤษดีขึ้น!

การศึกษาแกรมมาร์ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการปรับปรุงทักษะการพูดภาษาอังกฤษของคุณ

เหตุผลเป็นเพราะเมื่อคุณกำลังพูดคุยกับใครสักคน คุณไม่ได้มีเวลาที่จะคิดเกี่ยวกับกฎแกรมมาร์ หากมีคนพูดอะไรกับคุณ คุณต้องตอบกลับทันที

นี่คือเหตุผลที่นักเรียนที่เรียนแกรมมาร์มาหลายปีโดยไม่ใช้วิธีการเรียนรู้อื่นๆ พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก

เนื่องจากข้อเสียดังกล่าว ผมจึงแนะนำให้คุณใช้วิธีที่ 2 และ 3 เพื่อปรับปรุงแกรมมาร์ภาษาอังกฤษของคุณแทน วิธีการเรียนรู้เหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องนึกถึงแกรมมาร์

มาพูดคุยกันถึงแนวทางข้อ 2 กันเลย
.
.
.

วิธีที่ 2: การฟังและการอ่านภาษาอังกฤษ


วิธีนี้ง่ายมาก: คุณแค่เรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษผ่านการฟังและการอ่าน

เนื้อหาที่คุณบริโภคสามารถเป็นอะไรก็ได้ เช่น วิดีโอ คลิปยูทูป ภาพยนตร์ รายการทีวี หนังสือ บทความ พอดแคสต์ และจากสื่ออื่นๆ

ตราบใดที่เนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ

นี่คือวิธีที่คุณเรียนรู้ภาษาแรกของคุณในตอนที่เป็นเด็ก ซึ่งก็คือการเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้คุณอาจกำลังคิดว่า …

  • นี่ไม่ใช่วิธีเรียนรู้แกรมมาร์ คุณจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการบริโภคเนื้อหาภาษาอังกฤษแบบสุ่มๆ
  • การฟังและการอ่านมีประโยชน์สำหรับการสร้างคำศัพท์เท่านั้น มันจะไม่พัฒนาแกรมมาร์ของฉัน

หากคุณมีความคิดเช่นนั้น หัวข้อถัดไปจะเปลี่ยนความคิดของคุณ
.
.
.

สมองของคุณสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้โดย “ ไม่รู้ตัว”


สมองมนุษย์นั้น ช่างน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง

มันมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้โดยอัตโนมัติ ผ่านทางจิตใต้สำนึก

ให้ผมอธิบายสิ่งนี้ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ในงานวิจัยดังกล่าว ผู้คนถูกขอให้กดปุ่มบนคีย์บอร์ดตามสิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ


มีช่องสี่เหลี่ยมสี่ช่องบนหน้าจอ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เครื่องหมาย X จะปรากฏขึ้นในสี่เหลี่ยมหนึ่งช่อง

หากเครื่องหมาย X ปรากฏในช่องแรก พวกเขาต้องกดปุ่ม X หากเครื่องหมายปรากฏในช่องที่สอง สาม หรือสี่ พวกเขาต้องกดปุ่ม C, B หรือ N ตามลำดับ (พวกเขาต้องกดให้เร็วที่สุด)


แต่มีความลับในการทดลองนี้

เครื่องหมาย X จะไม่ปรากฏขึ้นแบบสุ่ม แต่ปรากฏขึ้นอย่างมี“รูปแบบ”

ตัวอย่างเช่น เครื่องหมาย X อาจปรากฏขึ้นตามลำดับนี้: 4, 2, 1, 3, 3, 4, 1, 2, 3, 2, 1, 2, 4, 4, 1, 3 (ตัวเลข 1 ถึง 4 เป็นตัวแทนของสี่เหลี่ยมแต่ละช่อง)

ดังนั้น เครื่องหมายจะปรากฏตามลำดับที่เฉพาะเจาะจง แต่มันซับซ้อนเกินไปที่จะตรวจจับรูปแบบดังกล่าวได้อย่างมีสติ (ไม่มีผู้เข้าร่วมทดลองคนใดที่รู้ว่ามีรูปแบบอยู่ พวกเขาต่างคิดว่า ทุกอย่างเป็นแบบสุ่ม)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เข้าทดลองสามารถตอบสนองได้เร็วขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาใช้เวลาน้อยลงในการกดปุ่มที่ถูกต้อง!

นั่นเป็นเพราะสมองของพวกเขาสามารถตรวจจับรูปแบบได้โดยไม่รู้ตัว เป็นผลให้พวกเขาตอบสนองเร็วขึ้น

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสามารถของสมองในการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้โดยอัตโนมัติ แบบไม่ต้องใช้ความพยายาม

เนื่องจากกระบวนการนี้เกิดขึ้นในระดับที่ไม่ได้สติเราจึงเรียกกระบวนการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว (หรือการเรียนรู้โดยปริยาย)
.
.
.

สมองของคุณเรียนรู้แกรมมาร์ “โดยอัตโนมัติ” ได้อย่างไร


กระบวนการเดียวกันกับข้างต้น จะเกิดขึ้นเมื่อคุณถูกแวดล้อมด้วยภาษาอังกฤษ

เมื่อคุณฟังหรืออ่านภาษาอังกฤษสมองของคุณจะเรียนรู้แกรมมาร์โดยอัตโนมัติ (โดยที่คุณไม่รู้ตัว)

ผมขอยกตัวอย่างให้คุณ

สมมติตอนนี้คุณไม่รู้ความหมายของวลีที่ว่า “to meet with someone” (มันต่างจากคำว่า “to meet someone.” นะครับ)

คุณอาจคิดว่า คุณต้องการใครสักคนที่จะอธิบายความหมายให้คุณ แต่ไม่จำเป็น
.
.

หากคุณได้ยินเสียงเจ้าของภาษาใช้วลีดังกล่าวมากพอ สมองของคุณจะสังเกตได้เองว่า  “to meet with someone” เป็นวลีที่ใช้ในบางสถานการณ์เท่านั้น

เมื่อสมองคุณได้รับข้อความนั้นมากพอ คุณจะเข้าใจในที่สุดว่า วลีดังกล่าวหมายถึงอะไร (มันหมายถึง การพบปะกับใครบางคน)

หลักการเดียวกันนี้เป็นข้อเท็จจริงสำหรับเรื่องยากๆอย่างเรื่องเทนส์ในภาษาอังกฤษ เช่น Present Perfect Tense (ฉันได้ทำบางสิ่ง) ด้วยเช่นกัน
.
.

ถ้าคุณฟังการสนทนาภาษาอังกฤษบ่อยๆและคุณได้ยินว่าเจ้าของภาษาใช้ Present Perfect Tense ในสถานการณ์ต่างๆหลายครั้ง ในที่สุดคุณก็จะเข้าใจได้เองว่า ต้องใช้ Present Perfect Tense อย่างไร

มีรูปแบบแฝงอยู่ในทุกๆหัวข้อของภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ กาลเวลา คำบุพบท คำคุณศัพท์ คำวิเศษณ์ ฯลฯ พวกมันกำลังรอการตรวจจับและเรียนรู้จากสมองของคุณ

สิ่งที่คุณต้องทำคือการ การเปิดโอกาสให้ตัวเองแวดล้อมไปด้วยภาษาอังกฤษให้มากที่สุดและปล่อยให้สมองทำหน้าที่ส่วนที่เหลือ
.
.
.

แต่การศึกษาเรื่องแกรมมาร์ จะได้ผลเร็วกว่ามิใช่หรือ?


ตอนนี้คุณอาจกำลังคิดว่า “ ทำไมฉันต้องใช้เวลาฟังและอ่านภาษาอังกฤษ? หากฉันต้องการเข้าใจแกรมมาร์ภาษาอังกฤษ ฉันก็สามารถหาบทเรียนแกรมมาร์ออนไลน์และศึกษาด้วยตนเองได้”

นี่เป็นคำถามที่ดีมาก ดังนั้น ขอให้ผมอธิบายว่าทำไมการศึกษาแกรมมาร์จึงไม่ดี

เมื่อคุณเรียนรู้บางสิ่ง มันจะส่งผลให้เกิดความจำ (ความรู้) ที่ถูกเก็บไว้ในสมองของคุณ

แต่ความรู้มีอยู่สองประเภท:

  • ความรู้แฝงเร้น
  • ความรู้ชัดแจ้ง

ความรู้สองประเภทนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง และถ้าคุณต้องการเก่งเรื่องแกรมมาร์ภาษาอังกฤษ คุณต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างความรู้ทั้งสองประเภท
.
.
.

ความรู้แฝงเร้น คืออะไร


ความรู้แฝงเร้น คือ ความรู้ที่คุณนำมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ อน่างเป็นธรรมชาติ (ฟังดูเจ๋งใช่มั้ยล่ะ)

ตัวอย่างของความรู้แฝงเร้น:

  • การขี่จักรยาน
  • การเล่นกีฬา เช่น เทนนิส
  • การพูดภาษาแม่ของคุณ

ความรู้แฝงเร้นนั้นรวดเร็วและเป็นไปโดยอัตโนมัติ นั่นเป็นเหตุผลที่คุณสามารถขี่จักรยานได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะขยับขาอย่างไร และเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณสามารถพูดภาษาแม่ของคุณได้โดยไม่ต้องนึกถึงแกรมมาร์

คุณจำเรื่องงานวิจัยที่ผมกล่าวถึงก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ (การกดปุ่มบนแป้นพิมพ์) เหตุผลที่ผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถทำได้เร็วขึ้น ก็เป็นเพราะความรู้ประเภทนี้
.
.
.

ความรู้ชัดแจ้ง คืออะไร


ความรู้ชัดแจ้งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้แฝงเร้น

ความรู้ประเภทนี้ต้องอาศัยการคิดอย่างมีสติ คุณต้องคิดเกี่ยวกับความรู้เพื่อที่จะใช้มัน

ตัวอย่างของความรู้ชัดแจ้ง:

  • วิชาการ เช่น ฟิสิกส์และเคมี
  • ชื่อบุคคลและสถานที่
  • กฎแกรมมาร์

เมื่อคุณศึกษาเรื่องแกรมมาร์คุณจะได้รับความรู้ชัดแจ้ง แต่การใช้ความรู้ประเภทนี้ คุณต้อง “คิด” เกี่ยวกับมัน

ความรู้ชัดแจ้งนั้นช้าและต้องใช้ความพยายาม ดังนั้น มันจึงมีประโยชน์เฉพาะเวลาที่คุณทำงานแบบไม่ต้องมีการตอบสนองที่ฉับพลัน (เช่น การเขียนภาษาอังกฤษ)

น่าเสียดายที่ ความรู้ประเภทนี้ไร้ประโยชน์ในการพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คุณต้องตอบสนองอย่างฉับพลัน (คุณไม่มีเวลาคิดเกี่ยวกับแกรมมาร์)

หากคุณพยายามใช้ความรู้ชัดแจ้งในการพูดภาษาอังกฤษ อาจจะเกิดสถานการณ์แบบด้านล่างนี้ขึ้น:


ความรู้แฝงเร้น คือ กุญแจสู่ความคล่องแคล่ว


เมื่อคุณเรียนภาษาอังกฤษผ่านการฟัง การอ่าน และการฝึกฝน คุณได้รับความรู้แฝงเร้นโดยปริยาย ในการใช้ความรู้ประเภทนี้คุณไม่ต้องคิดอะไรเลย

การที่ความรู้แฝงเร้นมีความรวดเร็วและเป็นไปแบบอัตโนมัติ มันจึงเป็นประโยชน์ในงานทุกประเภท เช่น การพูด การเขียน และแม้แต่ในขณะที่ทำข้อสอบแกรมมาร์

เมื่อผู้เรียนแกรมมาร์ทำข้อสอบแกรมมาร์ พวกเขามักจะใช้ความรู้แบบชัดแจ้ง พวกเขาจะพยายามนึกถึงกฎแกรมมาร์อย่างต่อเนื่องในระหว่างการสอบ

ในทางกลับกัน หากเจ้าของภาษาทำข้อสอบแกรมมาร์ เขาจะใช้ความรู้แฝงเร้น ดังนั้น เขาจะไม่ต้องนึกถึงกฎใดๆ เขาจะอาศัยความรู้สึกและสัญชาตญาณเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง


อย่างที่คุณเห็น ความรู้แบบแฝงเร้นนั้นดีกว่าความรู้แบบชัดแจ้ง

เมื่อคุณเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ) คุณต้องมุ่งเน้นไปที่วิธีการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความรู้แฝงเร้น
.
.
.

วิธีการสร้างความรู้แฝงเร้น


การฟังและการอ่านเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความรู้แฝงเร้นเกี่ยวกับแกรมมาร์ภาษาอังกฤษ

เมื่อคุณฟังหรืออ่านภาษาอังกฤษโปรด จดจ่อกับความหมาย ของสิ่งที่คุณกำลังฟังหรืออ่าน อย่าคิดถึงกฎแกรมมาร์ อย่าพยายามวิเคราะห์โครงสร้างประโยค อย่าพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมต้องใช้เทนส์นี้ในกาลนี้หรือกาลนั้น

จงมุ่งเน้นไปที่ความหมายไม่ใช่แกรมมาร์ ให้สมองที่น่าทึ่งของคุณเรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ “อยู่เบื้องหลัง” โดยไม่ต้องใส่ใจ
.
.
.

แต่การฟังและการอ่านยังไม่เพียงพอ


แม้ว่าการฟังและการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมแก่คุณ

การฟังภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว โดยไม่ฝึกพูด ไม่สามารถช่วยให้คุณพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง

การอ่านภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว โดยไม่ฝึกเขียน ไม่สามารถช่วยให้คุณเก่งในการเขียนภาษาอังกฤษ

การที่จะเก่งภาษาอังกฤษได้นั้น คุณจำเป็นต้องฝึกฝน ดังนั้น มาพูดถึงเรื่องนี้กัน
.
.
.

วิธีที่ 3: เลียนแบบเจ้าของภาษา


ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์เราได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ผ่านการฝึกฝน


การฝึกปฏิบัติเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเรียนรู้ทักษะใดๆก็ตาม รวมทั้งการพูดและเขียนภาษาอังกฤษ

แต่เพื่อที่จะปรับปรุง คุณต้องฝึกฝนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือวิธีการที่ 1) ช่วยให้คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ 2) ก่อให้เกิดความรู้แฝงเร้น
.
.
.

วิธีฝึกภาษาอังกฤษ


บางคนฝึกพูด โดยการพูดกับตัวเองเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ


ถึงแม้มันจะดีกว่าอยู่เฉยๆ แต่ปัญหาของการฝึกดังกล่าว คือ คุณไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆเลย คุณเพียงแค่ใช้ความรู้ที่คุณมีอยู่เดิม

เช่นเดียวกับการเขียนสุ่มในเรื่องต่างๆ คุณจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยวิธีแบบนั้น

นอกจากนี้ เมื่อคุณฝึกซ้อมแบบฟรีสไตล์ คุณจะไม่ทราบว่า คุณกำลังทำผิดพลาดตรงไหน ดังนั้น คุณย่อมไม่รู้วิธีปรับปรุงแก้ไข

โชคดีที่มีวิธีฝึกฝนที่ดีกว่า มันถูกเรียกว่า การเลียนแบบ

แนวคิดก็คือ คุณสามารถเรียนรู้ที่จะพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้ โดยเลียนแบบเจ้าของภาษา

เมื่อคุณเลียนแบบเจ้าของภาษา ก็เหมือนการเรียนรู้ที่จะพูด/เขียนภาษาอังกฤษด้วยแกรมมาร์ที่ถูกต้อง (และได้เรียนรู้คำศัพท์ในคราวเดียวกัน)

ผมขอบอกวิธีฝึกปฏิบัติให้คุณทราบ ดังนี้
.
.
.

วิธีเลียนแบบการพูดภาษาอังกฤษ


มีสองวิธีในการฝึกฝน

วิธีแรกคือการใช้บทถาม-ตอบภาษาอังกฤษ (Q&A)

โดยทั่วไปนี่คือวิธีที่คุณใช้บทถาม-ตอบ:

  • เจ้าของภาษาถามคำถามคุณ
  • คุณพยายามตอบคำถามด้วยตัวเอง
  • จากนั้น เจ้าของภาษาจะให้คำตอบที่ถูกต้อง
  • หากคำตอบของคุณไม่ถูกต้อง ก็หยุดบทเรียนไว้ชั่วคราวและเลียนแบบคำตอบที่ถูกต้อง

ในแต่ละบทเรียน ให้ทำกระบวนการข้างต้นซ้ำๆหลายครั้ง คุณจะได้ฝึกฝนสร้างประโยคทุกประเภทเป็นภาษาอังกฤษ

หากคุณต้องการฝึกฝนแบบถาม-ตอบ คุณสามารถซื้อได้จาก ลิงค์นี้

หากคุณไม่ต้องการจ่ายเงิน ก็ยังมีอีกวิธีในการเลียนแบบการพูดภาษาอังกฤษ

สิ่งที่คุณต้องทำคือ ค้นหาบทสนทนาภาษาอังกฤษ ฟังมัน และพูดตามสิ่งที่คุณได้ยิน บทสนทนาอาจมาจากอะไรก็ได้ เช่น คลิปวิดีโอในยูทูป พอดคาสต์ ภาพยนตร์ ฯลฯ (โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบฝึกเลียนแบบด้วยคลิปวิดีโอในยูทูป)
.
.
.

วิธีเลียนแบบการเขียนภาษาอังกฤษ


ถ้าคุณต้องการเขียนภาษาอังกฤษด้วยแกรมมาร์ที่สมบูรณ์แบบ คุณจะชอบเทคนิคนี้

ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือเขียน การฝึกฝนด้วยวิธีเลียนแบบ มีประโยชน์สามประการ:

  • ช่วยให้คุณแน่ใจว่า คุณจะได้รับการป้อนข้อมูลใหม่ (คำศัพท์และวลีที่คุณไม่เคยใช้มาก่อน)
  • ช่วยให้คุณแน่ใจว่า คุณได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง (แค่เลียนแบบเจ้าของภาษา)
  • กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว (การฝึกฝนนี้มีความท้าทายมากกว่าการอ่านหรือการฟัง ดังนั้น คุณจึงพัฒนาได้เร็วขึ้น)

ด้วยประโยชน์ดังที่กล่าวมา วิธีการเลียนแบบจึงเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการพัฒนาทักษะด้านแกรมมาร์ภาษาอังกฤษของคุณ
.
.
.

สรุป: แผนการฝึกทักษะแกรมมาร์ภาษาอังกฤษ


ผมรู้ว่าบทความนี้มีรายละเอียดเยอะมาก

และเนื่องจากมันต้องใช้เวลานาน คุณอาจสับสนเกี่ยวกับวิธีการประยุกต์ใช้สิ่งที่คุณได้เรียนรู้เข้าไปในชีวิตประจำวันของคุณ

ดังนั้น ผมขอสรุปแผนการฝึกทักษะแกรมมาร์ภาษาอังกฤษของคุณ ทีละขั้นตอน ดังนี้
.
.
.

ขั้นตอนที่ 1: อ่าน/ฟังภาษาอังกฤษระหว่างทำกิจกรรมที่คุ้นเคย


ตลอดทั้งวัน มีโอกาสมากมายในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น

  • ขณะเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง (ไม่ว่าจะโดยรถยนต์หรือระบบขนส่งสาธารณะ)
  • ขณะที่นั่งรอคิวอยู่ในคลีนิค
  • ขณะออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือถีบจักรยาน

ในเวลาดังกล่าว คนส่วนใหญ่มักหลีกหนีความเบื่อหน่ายด้วยการเล่นโซเชียลมีเดีย ฟังเพลง หรือเล่นเกม

แต่ไม่ใช่คุณ! แทนที่จะเสียเวลาไปเช่นนั้น คุณควรฟังหรืออ่านภาษาอังกฤษ

อย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่ผมทำ ผมพกหนังสือภาษาอังกฤษติดตัวเสมอเมื่อออกไปข้างนอก

เมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาส ผมจะหยิบหนังสือมาอ่าน ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่ผมขึ้นรถไฟ ผมจะคว้าหนังสือมาและเริ่มอ่านทันที

ผมมีแอพฯพอดแคสต์และแอพฯยูทูปในโทรศัพท์ของผม ซึ่งสมัครรับข้อมูลจากช่องภาษาอังกฤษหลายช่อง วิธีนี้ทำให้ผมสามารถฟังภาษาอังกฤษระหว่างทำกิจกรรมที่คุ้นเคยทั่วไปได้


ด้วยการใช้เนื้อหาภาษาอังกฤษจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ผมได้สร้างความรู้แฝงเร้นเกี่ยวกับแกรมมาร์ภาษาอังกฤษขึ้นมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทักษะการพูดและการเขียนของผม
.
.
.

ขั้นตอนที่ 2: อุทิศเวลา 15 – 45 นาทีต่อวันเพื่อฝึกเลียนแบบ


เนื่องจากไม่สามารถฝึกฝนขณะอยู่บนรถไฟหรือขณะยืนต่อคิว (เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่าบ้า) คุณควรอุทิศเวลา 15 – 45 นาทีต่อวันเพื่อฝึกเลียนแบบการพูดและเขียน (คุณสามารถฝึกฝนได้มากขึ้น ถ้าคุณมีเวลาว่างมากๆ)


โดยส่วนตัวแล้ว ผมฝึกเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ผมรู้สึกมีแรงจูงใจมากที่สุด

ผมคิดว่าการลงทุน 15 – 45 นาทีต่อวันเพื่อปรับปรุงตัวเองเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และควรทำ
.
.
.

ขั้นตอนที่ 3: ศึกษาแกรมมาร์ เฉพาะเวลาที่จำเป็น


หลังจากอ่านความคิดเห็นของผมที่มีต่อการศึกษาแกรมมาร์แล้ว คุณอาจคิดว่า ผมเกลียดการทำเช่นนั้นและไม่ได้ศึกษาแกรมมาร์

นั่นไม่เป็นความจริง เพราะในบางโอกาสผมก็ศึกษาแกรมมาร์ด้วยเช่นกัน

แต่ผมจะศึกษาก็ต่อเมื่อต้องการที่จะเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงอันจักสามารถช่วยปรับปรุงทักษะการเขียนของผมได้

ตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่งที่ผมเกิดสงสัยขึ้นมาว่า คุณสามารถใช้คำว่า otherwise ขึ้นต้นประโยคได้หรือไม่ ดังนั้น ผมจึงทำการศึกษา
.
.
.

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับ แกรมมาร์สำหรับการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นไรที่จะศึกษา แต่ขอให้ทำอย่างเจาะจงเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการรู้

นั่นคือทั้งหมดที่ผมต้องการจะบอก เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้แกรมมาร์ภาษาอังกฤษ ขอบคุณมากสำหรับการอ่านบทความยาวๆนี้ ผมหวังว่ามันจะมีประโยชน์กับคุณ!

Share
.